☀️ ธรรมสัญจร กัมพูชา ☀️
☀️ "อารยธรรมโบราณ" ☀️
๓๑ พ.ย. - ๓ ธ.ค. ๒๕๕๘
ท่านทั้งหลาย ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤศจิกายน - ๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา คณาจารย์จากคณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และผู้ติดตามจำนวน ๑๙ ท่าน และศิลปินชาวเกาหลีใต้อีก ๕ ท่าน ได้เดินทางไปทัศนศึกษาศิลปวัฒนธรรม และชมเทวสถานหลายแห่ง ที่สร้างอยู่ภายในเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา อาทิ ปราสาทพนมบาเค็ง ปราสาทนครวัด ปราสาทบายน ปราสาทตาพรหม ในนครธม ปราสาทบันทายศรี พนมกุเลน และโตนเลสาบ เป็นต้น
☀️ ทุ่งสังหาร ☀️
๓๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ คณะพวกเราไปชมสถานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ ที่กลุ่มเขมรแดงฆ่าประชาชนชาวกัมพูชาด้วยกัน ว่ากันว่า ปัญญาชนชาวกัมพูชาและผู้มีความคิดเห็นต่างจากกลุ่มเขมรแดง ถูกฆ่าตายราว ๔ ล้านคน สถานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงกลายเป็นทุ่งสังหาร หรือที่เรียกกันว่า Killing field ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และที่จังหวัดเสียมเรียบนี้ ประชาชนถูกฆ่าตายอยู่ภายในบริเวณวัดหลายหมื่นคน ขณะที่ไกด์กำลังบรรยาย บุรุษผู้หนึ่งจึงถือโอกาสภาวนาและแผ่เมตตา พร้อมพิจารณาว่า.... "เจริญสุดก็ที่นี่ เสื่อมสุดก็ที่นี่ ทุกข์สุดก็ที่นี่ โหดสุดก็ที่นี่ และบาปสุดก็ที่นี่".... พิจารณาไปใจก็สะท้าน เพราะใจสัมผัสในความทุกข์ของสรรพวิญญาณที่ยังตกค้างอยู่ที่นี่ จึงมีแต่ความเมตตาที่แผ่ออกไปให้พวกเขา
☀️ พนมบาเค็ง ☀️
ช่วงเย็นของวันที่ ๓๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ คณะพวกเราใต่เขาขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกดิน บนปราสาทพนมบาเค็งที่อยู่บนยอดเขา "พนมบาเค็ง" (Phnom Bakheng) เป็นเทวสถานที่สร้างตามลัทธิไศวนิกาย เมื่อราว พ.ศ. ๑๔๕๐ ปราสาทพนมบาเค็ง ตั้งอยู่บนเขาลูกเล็กที่มีความสูงประมาณ ๗๐ เมตร มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า ปราสาทยโศธระปุระ ตามนามของผู้สร้างคือ พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ แห่งอาณาจักรยโศธรปุระ ต่อมาได้เรียกว่า พนมบาเค็งตามลักษณะของต้นบาเค็งที่มีอยู่มากในบริเวณนี้ พนมบาเค็งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อของชาวฮินดู ปัจจุบัน ปราสาทพนมบาเค็ง กลายเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม ซึ่งสามารถมองเห็นปราสาทนครวัด บาราย และบริเวณโดยรอบ
☀️ ปราสาทนครวัด ☀️
๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ พวกเราได้ไปชมปราสาทนครวัด ซึ่งเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองพระนคร หรือที่เรียกกันว่า Angkor Wat ปราสาทนี้สร้างโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เพื่อเป็นสถานที่บูชาพระวิษณุหรือพระนารายณ์ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ใช้เวลาก่อสร้างเฉพาะในรัชสมัยของพระองค์ถึง ๓๗ ปี แต่ปราสาทก็ยังไม่แล้วเสร็จ จึงเห็นบางส่วนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี นั้นเป็นเพราะปราสาทนครวัดมีขนาดใหญ่มากถึง ๒๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร ตัวปราสาทสูง ๖๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร และกว้าง ๘๐ เมตร มีแผนผังที่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปราสาทขอม มีปราสาทยอดปรางค์ ๕ หลังตั้งอยู่บนฐานสูง โดยหลังกลางสูงที่สุด เสมือนเป็นยอดเขาพระสุเมรุ ตามคติความเชื่อของศูนย์กลางจักรวาล มีกำแพงด้านนอกยาวด้านละ ๑.๕ กิโลเมตร มีคูน้ำล้อมรอบตามแบบมหาสมุทรบนสวรรค์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ และว่ากันว่า ใช้หินรวม ๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ใช้แรงงานช้างกว่า ๔๐,๐๐๐ เชือก และแรงงานคนนับแสน ขนหินและชักลากหินมาจากเขาพนมกุเลน ชึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า ๕๐ กิโลเมตร จึงนับว่า เป็นงานสร้างที่ยิ่งใหญ่สุดของอาณาจักรขะแมร์โบราณ
☀️ ปราสาทบายน ☀️
๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ พวกเราได้ไปชมปราสาทบายน (Bayon) ซึ่งเป็นปราสาทหิน สร้างอยู่ในบริเวณของใจกลางนครธม (Angkor Thom) สร้างขึ้นเป็นวัดประจำสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในราวปี พ.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๗๖๓ ซึ่งสร้างขึ้นหลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงรบชนะพวกจามและขับไล่ออกไป ปราสาทบายน นับเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีความสลับซับซ้อนทั้งในแง่โครงสร้างและความหมาย เนื่องจากผ่านความเปลี่ยนแปลงด้านศาสนาและความเชื่อ มาตั้งแต่คราวนับถือศาสนาฮินดู สลับกับการกลับมานับถือพระพุทธศาสนามหายาน อาคารจึงมีลักษณะพิเศษ เนื่องจากส่วนของหอมีจำนวน ๔๙ หอ ปัจจุบันคงเหลือเพียง ๓๗ หอ แต่ละหอมีรูปหน้าหันสี่ทิศ แต่ยอดตรงกลางของกลุ่มอาคาร จะมี ๑๒ หน้า ว่ากันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงให้แกะเป็นรูปหน้าของพระองค์ และความหมายของหน้าทั้งสี่คือ พรหมวิหารสี่ ตามคติของศาสนาพุทธ อย่างไรก็ตาม บุรุษผู้หนึ่ง ได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่งภาวนาอยู่บนห้องใจกลางของยอดปราสาท นานราวครึ่งชั่วโมง ก็ได้รับความสงบและแปลกเป็นปัตจัตตัง
☀️ ปราสาทตาพรหม ☀️
๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ พวกเราได้ไปชมปราสาทตาพรหม (Ta Prohm) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๗๒๙ โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ทรงสร้างเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบมหายาน เพื่อถวายแด่พระมารดา ว่ากันว่า พระมารดาทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ภายในบริเวณปราสาทแห่งนี้ กว้างใหญ่มาก มีบ้านพักข้าราชบริพารรายล้อมจำนวนมาก และนับเป็นปราสาทหินในยุคท้ายๆ ของอาณาจักรขะแมร์โบราณ ปราสาทเหล่านี้ ถือว่าเป็นสถานที่ของพระพุทธศาสนา แต่ผู้มีอำนาจในยุคต่อมา ได้หันกลับไปนับถือฮินดู จึงมีการทำลายรูปสลักพระพุทธรูป และสร้างใหม่เพิ่มเติมปะปนกัน เมื่อมาถึงในยุคปัจจุบัน ปรากฏมีต้นไม้ใหญ่เกิดขึ้นบนตัวปราสาท แต่ไม่สามารถจะตัดออกได้ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่ง ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมความอัศจรรย์ที่ว่านี้
อย่างไรก็ตาม บุรุษผู้หนึ่ง ถือโอกาสนั่งภาวนาแผ่เมตตาไปตามประสา แม้ว่าจะมีฝูงชนนักท่องเที่ยวมากมายก็ตาม แต่จิตสงบดี เพราะมีพลังแฝงบางอย่างปรากฏให้รับรู้เป็นปัตจัตตัง เสมือนสรรพวิญญาณมีความปีติยินดี เมื่อจิตดิ่งสงบลง ปรากฏมีลมโชยพัดมา พร้อมกับเสียงนกนานาร้องดังระงมขึ้น ประหนึ่งเป็นเสียงของความทุกข์ระคนความปีติยินดี แต่ก็แปลก เพราะจิตยังมีความสงบบนเสียงร้องระงมนั่น ซึ่งก็ดูประหลาดลึกลับดี สมแล้วกับที่เป็นสถานที่บำเพ็ญทางพระพุทธศาสนา และพิธีกรรมของชาวฮินดู มาแต่โบราณกาล
☀️ ปราสาทบันทายศรี ☀️
๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ พวกเราได้ไปชมปราสาทบันทายศรี (Banteay Srei) แม้จะเป็นปราสาทขนาดเล็กที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพูก็ตาม แต่ก็นับเป็นปราสาทหินที่ถือได้ว่า งดงามที่สุดในประเทศกัมพูชา มีความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์ และเป็นปราสาทแห่งเดียวที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ ปราสาทบันทายศรี หรือที่เรียกตามสำเนียงเขมรว่า บันเตียไสร หมายถึง ปราสาทสตรี หรือป้อมสตรี มีตำนานเล่าว่า ปราสาทแห่งนี้เป็นที่อยู่ของฤาษี ต่อมาฤาษีได้แต่งงานกับสตรีนางหนึ่ง จึงเรียกปราสาทนี้ว่า เป็นปราสาทของสตรี ปราสาทบันทายศรี อยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ใกล้กับแม่น้ำเสียมเรียบ ในบริเวณที่เรียกว่า อิศวรปุระ หรือเมืองของพระอิศวร ปราสาทแห่งนี้ จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระอิศวร ภายใต้พระนามว่า "ตรีภูวนมเหศวร" หรือ "ผู้เป็นใหญ่แห่งโลกทั้งสาม" สร้างขึ้นโดยพราหมณ์ยัชญวราหะ ในตอนปลายของสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ ๒ (หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ พ.ศ. ๑๔๘๗ - ๑๕๑๑) และเสร็จในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (พ.ศ. ๑๕๑๑-๑๕๕๔)
☀️ พนมกุเลน ☀️
ท่านทั้งหลาย ๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ คณะพวกเราได้เดินทางไปชมเมืองโบราณ ณ พนมกุเลน (Phnom Koulen) จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา "พนม" แปลว่า ภูเขา "กุเลน" แปลว่า ต้นลิ้นจี่ พนมกุเลน ก็คือ ภูเขาที่มีต้นลิ้นจี่ ซึ่งเป็นการเรียกชื่อในภายหลัง เดิมทีภูเขาลิ้นจี่นี้ เมื่อราว ๑,๓๐๐ ปี พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ กษัตริกัมพุชเจียโบราณ เป็นผู้สร้าง "เมืองมเหนทรบรรพต" ขึ้นมาบนพนมกุเลน ซึ่งนับเป็นเมืองแห่งที่ ๔ ของพระองค์ พร้อมกับได้สร้างศิวลึงค์และโยนีไว้ใต้ลำธาร ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เพื่อเป็นสถานที่กระทำพิธีศิวะราตรีบนภูเขานี้ ว่ากันว่า ณ บริเวณลำธารบนเขาพนมกุเลนนี้ มีรูปแกะสลักใต้น้ำจำนวน ๑๐,๐๐๐ ชิ้น กระจายอยู่ตลอดลำธารที่ยาวถึงครึ่งกิโลเมตร อาทิ รูปแกะสลักศิวลึงค์ซึ่งเป็นตัวแทนของพระศิวะ รวมทั้งรูปแกะสลักพระวิษณุ และพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นต้น
☀️ "ศิวะราตรี" พิธีของพราหมณ์ ☀️
พิธีศิวะราตรี เท่าที่ฟังไกด์บรรยายพอสรุปได้ว่า หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงกระทำพิธี "ศิวะราตรี" คือการสรงน้ำที่ไหลผ่านศิวลึงค์บนเขาพนมกุเลน เพื่อชำระร่างกายจนสะอาดแล้ว พระองค์จะทรงจำศีลนั่งภาวนาสมาธิเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน โดยอาศัยภาวนาอยู่ใต้รูปปั้นนางพญานาคีเก้าเศียร ตามความเชื่อว่าเป็นมงคล จนเมื่อรู้เห็นสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสามารถติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าได้ พระองค์จะถามว่า สิ่งที่ท่านได้กระทำเพื่อบูชาแล้ว ถูกต้องดีงามหรือยัง พระเจ้าพึงพอใจหรือยัง ถ้าหากยัง พระองค์ก็จะทรงภาวนาสมาธิต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขณะที่คณะพวกเราเดินชมบริเวณรูปสลักใต้ลำธาร มีอาจารย์หนุ่มผู้มีใจใฝ่ในธรรมท่านหนึ่ง ถามบุรุษผู้หนึ่งว่า "อาจารย์ครับ ผู้ที่มีความเชื่อแบบนี้เป็นอย่างไรบ้าง" บุรุษผู้มีอาวุโสตอบอาจารย์หนุ่มไปว่า
☀️ "มันเป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ หากพิธีนี้มันศักดิ์สิทธิ์จริง กุ้งหอยปูปลาที่อยู่ในลำธารนี้ คงได้หมดทุกข์กันไปก่อนพระเจ้าชัยวรมันแล้ว มันก็เหมือนกับความเชื่อว่า แม่น้ำคงคาศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดีย ความเชื่อแบบพราหมณ์ก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย พระพุทธเจ้าสอนเราไม่ให้เชื่อเรื่องแบบนี้ มันเป็นความหลง แต่เราก็ไม่ว่ากันนะ เพราะเราก็เคยหลงแบบนี้มาหลายภพหลายชาติแล้ว แต่ชาตินี้เราจะไม่หลงแบบนั้นอีก แต่จะว่าไป มันก็เป็นขั้นตอนของการสร้างบารมี สร้างไปทุกศาสนา แต่หากบารมีมากแล้ว สุดท้ายต้องมาลงที่พระพุทธศาสนา จึงจะสามารถพ้นทุกข์ได้ เราสร้างมาหมดแล้ว จะกลับไปทำไม พอแล้ว ขออยู่กับพระพุทธเจ้าเป็นสุดท้าย" ☀️
☀️ บ่อน้ำเจ็ดสี ☀️
นอกจากนั้น ตรงบริเวณลำธารนี้ ยังพบบ่อน้ำผุดใสมรกตลึกราว ๑ เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ทางวิทยาศาสตร์ก็ว่าเป็นธรรมชาติ แต่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เชื่อว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกว่า บ่อน้ำเจ็ดสี และว่ากันว่า ชาวกัมพูชานำน้ำจากบ่อนี้ ไปประกอบพิธีสำคัญต่างๆ มาแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม เท่าที่บุรุษผู้หนึ่งสัมผัสได้ขณะแผ่เมตตา ปรากฏว่า มีคลื่นสัมผัสสื่อสารเข้ามา จึงอธิษฐานจิตว่า หากพวกท่านมีบุญวาสนา เราจะนิมนต์หลวงพ่อแห่งวัดโคกปราสาทและลูกศิษย์ มาภาวนาแผ่เมตตาแก่พวกท่านที่นี่ ก็ได้รับคลื่นปีติยินดีกลับมาเป็นปัตจัตตัง
☀️ การเข้ามาของพุทธศาสนาหินยาน ☀️
หลังจากนั้น คณะพวกเราได้ไปชมพระพุทธรูปนอนปางไสยยาสน์ ที่แกะจากหินอยู่บนยอดก้อนหิน สูงจากพื้นราวสิบเมตร ที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งรูปแกะสลักหินใต้ลำธารมากนัก พระพุทธรูปองค์นี้ สร้างโดยพระเจ้าองค์จันทร์ที่ ๑ เมื่อราว ๔๐๐ ปีที่ผ่านมา ว่ากันว่าพระเจ้าองค์จันทร์ที่ ๑ ทรงมีคติว่า หากมีศาสนสถานของพราหมณ์อยู่ที่ใด ท่านจะไปสร้างพระพุทธรูปอยู่ ณ ที่แห่งนั้น เพื่อประกาศให้รู้ว่า พระองค์มีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา (หินยาน) มากนั่นเอง
☀️ ปราสาทหินริมน้ำตก ☀️
บนเขาพนมกูเลน ว่ากันว่า มีโบราณสถานเช่นปราสาทหิน ธรรมศาลา และอโรคยา ที่สร้างด้วยศิลาแลงมากถึง ๔๘ แห่ง แต่เกือบทั้งหมดยังไม่ได้บูรณะและอยู่ในป่า อย่างไรก็ตาม ทางการกัมพูชาได้ให้สัมปทานแก่เอกชน เป็นผู้ดูแลและทำธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนั้น อีกสถานที่แห่งหนึ่งที่ถูกจัดให้ไปชมก็คือ ปราสาทหินเก่ายุคพระเจ้าไชยวรมันที่ 2 ที่สร้างไว้ติดกับน้ำตก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระนอนมากนัก สถานที่แห่งนี้ร่มรื่นสงบดี แต่ก็ดูลึกลับประหลาด เมื่อนั่งภาวนาก็ปรากฏจิตสงบดี จึงน่าจะเป็นสถานที่เหมาะในการภาวนามาแต่ในอดีต
☀️ โตนเลสาบ ☀️
หลังจากคณะพวกเราลงจากเขาพนมกูเลนแล้ว พวกเราไปเยี่ยมชมโตนเลสาบ (Tonle Sap Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา มีพื้นที่กว้าง ๒๕ กิโลเมตร ยาว ๑๕๐ กิโลเมตร โตนเลสาบนับเป็นแหล่งมรดก ทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมมาแต่บรรพกาล ซึ่งขณะนี้ทางการกัมพูชากำลังเสนอองค์การยูเนสโก ให้โตนเลสาบและพนมกูเลนเป็นมรดกโลกร่วมกัน ซึ่งคาดว่าอีกไม่กี่ปีจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม บุรุษผู้หนึ่งเคยเดินทางมายังที่นี่แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี ๒๕๕๐ การมาในครั้งกระนั้น ทำให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเวียดนามที่ยังตกค้างอยู่ในกัมพูชา อันเป็นผลมาจากการสงคราม ชาวเวียดนามนับแสนคนเป็นผู้ยากจน ไร้ที่อยู่ จึงได้พากันมาอาศัยสร้างเรือนแพและหากินอยู่ในทะเลสาบแห่งนี้ มานานหลายสิบปี แต่การมาในครั้งนี้ นอกจากจะได้ชมวิถีชีวิตและธรรมชาติแล้วบุรุษผู้นี้ยังได้พิจารณาสัจธรรมของโลกสมมุติ ภาวนาไป พิจารณาไป ใจเสมือนเห็นความทุกข์ของสัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือส่ำสัตว์ ต่างก็ดิ้นรนหาอยู่หากิน เอาชีวิตรอดไปวันๆ แม้แต่สรรพวิญญาณที่เวียนว่ายอยู่ในภพภูมิแห่งนี้ก็เช่นกัน ล้วนมีความทุกข์ไม่ต่างกัน พิจารณาไปเท่าไร ใจก็เห็นแต่ความทุกข์ จึงได้แผ่เมตตาออกไปตามประสา จะช่วยพวกท่านได้มากได้น้อยเพียงไร ก็ขอให้เป็นไปตามบุญบารมีของแต่ละท่านเถิด
ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
๙ ธันวาคม ๒๕๕๘
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น